Friday, April 6, 2007

ห้องสมุดใกล้บ้าน


หลายคนคิดว่าต้องมีเรื่อง (ทางวิชาการนะคะ ไม่ใช่เดินไปเหยียบใคร) ถึงจะเข้าห้องสมุดได้ เราเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดเฉยๆ ก็ได้ค่ะ ตำรวจไม่จับ จะบอกว่าประหยัดกว่าชวนแฟนไปเดินห้างอีก สำหรับตัวเองเคยทำงานให้ห้องสมุดมาเกือบสิบปี วันไหนว่างก็จะไปห้องสมุด ด้วยหลายเหตุผล เช่น ไปดูเทคโนโลยี ทดลองใช้ระบบบริการต่างๆ ดูการให้บริการของบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุด เดินใช้ห้องสมุดในแบบผู้ใช้ จะได้ฟังเสียงของคนใช้ห้องสมุดว่าเขาพูดถึงห้องสมุดที่เขาใช้อยู่ว่าอย่างไร จริงๆ คือไปเก็บข้อมูลจะได้มาบอกเล่าให้นักศึกษาฟัง (เป็นอาจารย์ต้องหูตากว้างขวาง จะว่าตามตำราทื่อๆ ไม่ได้) ห้องสมุดใกล้บ้านที่ไปบ่อยตอนนี้คือ หอสมุดป๋วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต http://library.tu.ac.th/ ช่วยค่าบำรุงห้องสมุด 20 บาท เข้าๆ ออกๆ ได้ทั้งวัน แนะนะให้ตรวจวัน เวลา เปิดบริการ ก่อนไปนะคะ โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม ส่วนตัวเองชอบไปตอนปิดเทอมอย่างนี้แหละค่ะ นักศึกษาไม่มาก หนังสือไม่ค่อยมีคนยืมออก ถ่ายเอกสารก็ไม่ต้องรอนาน บรรณารักษ์กับเจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่นี้น่ารักมาก (รุ่นพี่หลายคนให้การต้อนรับอย่างดี) มีหนังสือดีๆ รูปสวยๆ บางเล่มราคาแพงมาก (เงินเดือนอาจารย์ซื้อไม่ได้เด็ดขาด) ยังเคยได้สูตรทำสลัดจากนิตยสารฝรั่งเลยค่ะ

Monday, April 2, 2007

หลากหลายแนวคิดเกี่ยวกับบรรณารักษ์

สิบกว่าปีผ่านมาเวลาที่บอกใครว่าเป็นบรรณารักษ์ 8 ใน 10 คน จะมองด้วยสายตาแปลกๆ (คิดเอาเองว่าเค้าคงไม่เคยเห็นบรรณารักษ์น่ารักอย่างนี้มาก่อน) อาชีพนี้คงมีคนน้อยคนเกิดมาคิดจะเป็น ตัวเองก็เหมือนกันไม่เคยคิดเลยและที่ได้มาเป็นเรียนทางนี้เพราะคุณพ่อบอกให้เรียนมีเหตุผลประกอบว่าในอนาคตการจัดการข้อมูลข่าวสารจะเป็นเรี่องสำคัญ (คุณพ่อพูดไว้ตั้งแต่ปี 2532 แล้วนะคะ) ช่วงนั้นนักศึกษาที่สอบติดคณะศิลปศาสตร์ มธ. ส่วนมากต้องการเลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ แต่ถ้าคะแนนไม่ถึงก็มาเลือกวิชาเอกภาษาวรรณคดีอังกฤษ แต่ผลสุดท้ายแล้ววิชาเอกที่มีคนเรียนกันมากก็เป็นประวัติศาสตร์ ชั้นปีหนึ่งเกือบร้อยคนได้ ส่วนวิชาเอกบรรณารักษ์แทบไม่มีคนเลือกเรียนเลยสี่ชั้นปีรวมกันยังไม่ถึง 30 คนเลยค่ะ เพื่อนที่เรียนกันมา 7 คนจบแล้วทำงานเป็นบรรณารักษ์ถึงปัจจุบันมี 3 คน นอกนั้นไปเป็นเลขานุการหรืออาจทำงานอย่างอื่นอีกไม่แน่ใจ
การเรียนวิชาบรรณารักษ์หลายคนไม่สัมผัสคงคิดว่าน่าเบื่อหรือไม่มีอะไรตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้วกลับมีเรื่องใหม่ให้เรียนรู้ทุกวัน การเรียนรู้ที่ว่านี้ไม่ใช่วิชาการทางบรรณารักษ์นะคะ แต่รู้เรื่องอื่นๆ ทั่วไป เพราะหนังสือคือขุมทรัพย์ความรู้ขนาดใหญ่ของโลก สนุกที่ได้รู้ว่าจะแก้ปัญหาหลายอย่างได้โดยหาคำตอบจากหนังสือ